รู้จัก สามพระราชินีผู้เลอโฉม ใน ร.5 ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม เป็นที่กล่าวถึงในหมู่ชาวต่างชาติ

คอมเมนต์:

"สามพระราชินีผู้เลอโฉม" ใน ร.5 ถึงขนาดที่ว่าชาวต่างชาติผู้มาเข้าเฝ้าต้องตะลึงในพระรูปโฉม

    ในสมัยรัชกาลที่ 5 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือได้ว่ามีความแตกต่างในเรื่องของเจ้านายเชื้อพระสงศ์มากกว่า ร.4 เนื่องจากสมเด็จพระบรมชนกนาถมีพระราชโอรสพระราชธิดารุ่นราวคราวเดียวกันมากถึง 82 พระองค์

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระกนิษฐภคินี(น้องสาว) 3 พระองค์เป็นบาทบริจาริกาในเวลาไล่เลี่ยกัน และจากพระชนนีองค์เดียวกัน คือต่างก็เป็นพระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ดังมีพระนามตามลำดับต่อไปนี้

 

Sponsored Ad

 

    - สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2420 พระชนมายุ 16 พรรษา

    - สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2421 พระชนมายุ 15 พรรษา(ต่อมาเลื่อนเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)

    - สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2423 พระชนมพรรษา 17 พรรษา(ต่อมาเลื่อนเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ)

    พระมเหสีทั้ง 3 พระองค์นั้น ล้วนมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่รำลือไปทั่วทั้งแผ่นดินไทยและต่างประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ จนถึงขนาดที่มีในจดหมายเหตุของชาวต่างชาติผู้ได้มาเข้าเฝ้าว่า พระมเหสีไทยทรงมีพระสิริโฉมงดงามหาใครเปรียบได้ยากยิ่ง

 

Sponsored Ad

 

    รัชกาลที่ 5 นั้น ทรงสนิทเสน่หาพระกนิษฐภคินีทั้ง 3 พระองค์ยิ่งนัก ด้วยนอกจากจะมีพระสิริโฉมงดงาม ยังทรงมีพระสติปัญญาหลักแหลม พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว วางพระองค์ไว้ถูกกาลเทศะ ทั้ง 3 พระองค์มีส่วนในการค้ำจุนราชบัลลังก์และราชสำนักไทยได้อย่างลงตัว

    ทรงเรียก สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ว่า "แม่ใหญ่" ผู้เฉิดโฉมด้วยพระพักตร์ที่ทรงมีสเน่ห์ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ว่า "แม่กลาง" ทั้งพระสิริโฉมและสง่างาม ส่วน สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ว่า "แม่เล็ก" ผู้นำด้านแฟชั่นตะวันตกและภาพลักษณ์ของราชสำนัก

 

Sponsored Ad

 

    

    พระสิริโฉมของสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 5 นั้น ทรงโสภายิ่ง ถึงขนาดปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ของฝรั่ง นักประวัติศาสตร์ไทย คุณณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม กล่าวถึง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ไว้ตอนหนึ่งว่า

    “พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดสมเด็จพระนางเจ้าพระองค์นี้มากยิ่งนัก ด้วยทรงประกอบไปด้วยพระรูปสมบัติ พระคุณสมบัติ ตลอดจนพระอัธยาศัยสุภาพเรียบร้อย สงบเสงี่ยมเป็นที่นิยมนับถือในบรรดาพระราชวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงเป็นอันมาก แต่กล่าวกันว่าบางครั้งสมเด็จพระนางก็ทรงเด็ดขาดสามารถในการปกครองข้าราชบริพารเป็นอย่างยิ่ง”

 

Sponsored Ad

 


    อดีตประธานาธิบดีกรานต์แห่งสหรัฐอเมริกา ที่เคยเข้ามาเมืองไทยใน ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) และได้เข้าเฝ้าฯ ถึงในพระบรมมหาราชวัง ยังได้บันทึกไว้ว่าสมเด็จพระราชินีได้เสด็จออกต้อนรับท่านและภรรยาพร้อมด้วยพระเจ้าอยู่หัว ได้สนทนาวิสาสะและชมความงามของพระราชินีแห่งสยามด้วยความนิยมยินดี

    แต่ด้วยคราวเคราะห์ที่ไม่มีใครคาดคิด ใน พ.ศ. 2423 ขณะที่ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ มีพระชนมายุเพียง 21 พรรษา ก็สวรรคตในเหตุเรือพระประเทียบล่มที่นนทบุรีพร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ผู้ตามเสด็จ เป็นเหตุผลให้คนไทยในสมัยต่อมาขานพระนามว่า“พระนางเรือล่ม” ตราบถึงทุกวันนี้

 

Sponsored Ad

 

    หลังจากเหตุการณ์นั้น สมเด็จพระน้องนางเธอสว่างวัฒนาจึงได้เสด็จขึ้นดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีแทนใน พ.ศ. 2423 และประสูติพระราชโอรสซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร”

 

Sponsored Ad

 

    นักประวัติศาสตร์ไทยกล่าวถึงสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาว่า นอกจากจะทรงมีสติปัญญาฉลาดหลักแหลมแล้ว ทางด้านพระโฉมนั้น ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก สำหรับเรื่องพระสิริโฉมแห่งพระนาง ได้ปรากฏเล่าลือไปถึงต่างแดน เนื่องจากว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศทางแถบยุโรปนั้นเป็นพระราชภารกิจที่สำคัญ จะเห็นได้ว่ามีทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ พระองค์อยู่บ่อยครั้ง เมื่อพระองค์ได้ทรงรับพระกรุณาสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าแล้ว ก็ทรงทำหน้าที่พระอัครมเหสีอย่างเต็มที่ด้วยการถวายงานและเสด็จอยู่เคียงข้างพระราชสวามีไม่ได้ขาด

Sponsored Ad

    ปริ๊นซ์ออสคาร์ ดยุคออฟก๊อตแลนด์ จากประเทศสวีเดน ได้เสด็จเข้ามาเยือนสยามประเทศใน พ.ศ. 2427 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เข้าเฝ้าฯ ณ พระบรมมหาราชวัง เสด็จออกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ตามที่ปริ๊นซ์ออสคาร์เขียนบันทึกในจดหมายเหตุว่า

    “…เราเดินผ่านท้องพระโรงใหญ่ๆ หลายห้องและห้องสวยๆ อีกไม่น้อยจนผ่านสวนในร่ม ซึ่งน้ำตกตกเป็นสายจากถ้ำจำลองแล้วจึงเข้าไปถึงห้องรับแขกของพระราชินีไทย ฉันแปลกใจเมื่อเข้ามาเผชิญหน้ากับผู้ที่มีรูปร่างอ้อนแอ้นแบบบางอายุราวๆ 22 ปีแต่งคล้ายมหาดเล็กแต่มีความคิดดีในการแต่งกายทำให้ดูหยดย้อยแสนจะหรูหรา

    พระเจ้าแผ่นดินทรงแนะนำว่าเป็นพระมเหสีของพระองค์ เครื่องทรงของพระราชินีซึ่งเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างวิเศษสุดนั้น ประกอบด้วยฉลองพระองค์โบรเคตสีทองๆ เงินๆ พอดีพระองค์แขนเป็นจีบๆ ทำด้วยไหมทอง มีจุดขาวมีแพรสีเขียวพันรอบพระองค์ชายข้างหนึ่งพาดบนพระอังสาซ้ายอย่างหลวมๆ ทรงสนับเพลาหรือผ้าทรงแบบเดียวกับที่พวกผู้ชายนุ่งเป็นสีน้ำเงินแก่กับทอง ทำให้ดูเครื่องแต่งพระองค์เป็นที่ประหลาดแต่สวยงามนี้ครบชุด โดยมีดุมเพ็ชรเม็ดใหญ่และเข็มกลัดเพ็ชรกลัดตรึงไว้รอบพระศอ ทรงสังวาลย์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับเพ็ชรวูบวาบติดทับอยู่บนฉลองพระองค์ท่านงามสะดุดตาที่สุดอยู่แล้ว

    ซ้ำยังเคลื่อนไหวพระอิริยาบถด้วยท่าทีที่เชื่อมั่นในพระองค์เองกับมีพระรูปโฉมสมเป็นนางเอกในภาพที่งามวิจิตร บริวารของฉันซึ่งได้รับอนุญาตให้ตามฉันเข้าไปในที่นี้ด้วยก็เช่นเดียวกับตัวฉัน คือ งงงัน ซาบซึ้ง และ ปิติยินดี ในสิ่งที่ได้พบเห็นโดยเฉพาะพระราชินีที่งามเลิศ…”

    สถานะของพระราชินีพระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 5 สิ้นสุดลงเมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2437 และเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ถือว่าพระราชโอรสที่ถือประสูติจากพระมเหสีทั้ง 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และสมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี มีพระศักดิ์เสมอกัน

    สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา เป็นที่รู้จักในชาวไทยว่า "ราชนารี 6 แผ่นดิน" เนื่องจากพระองค์ทรงดำรงพระชีพยาวนานถึง 6 แผ่นดิน นับแต่สมัยรัชกาลที่ 4-9 ยังทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (หรือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จฯ รับพระราชนัดดา เมื่อคราวเสด็จนิวัติพระนคร วันที่ 15 พ.ย. 2481

    เมื่อครั้ง สมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี ทรงได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของพระภรรยาเจ้า

    นักประวัติศาสตร์ไทยเขียนถึงความโสภาของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีว่าทรงพร้อมด้วยพระรูปโฉมงดงามยิ่ง พระฉวีขาวผุดผ่องสมพระนาม ดวงพระพักตร์เฉิดฉาย ประกอบด้วยพระจริยาวัตรอันงดงามอ่อนโยนทั้งทรงว่องไว มีชีวิตชีวา และทรงมีแววแห่งความเฉลียวฉลาด

    สื่อต่างประเทศเผยแพร่พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ไม่ใช่เฉพาะพระรูปโฉมอันผุดผาดของสาวตะวันออกเท่านั้น แต่ที่ถูกเน้นและกล่าวขวัญถึงอย่างมาก คือ การเป็นผู้นำแฟชั่นใหม่ๆ ของหญิงชาวเอเชียที่ไม่เปลี่ยนเลยมาเป็นร้อยๆ ปี

    เนื่องจากสนพระราชหฤทัยในฉลองพระองค์แบบทันสมัย ส่งผลให้นางสนมกำนัลและภาพลักษณ์ของชาวราชสำนักฝ่ายในเปลี่ยนตามไปด้วยตามพระราชนิยมใหม่ๆ มีการใช้เครื่องสำอาง น้ำหอม และเครื่องประทินผิวแบบหญิงชาวตะวันตก จนเหมือนว่าสยามล้ำหน้าไปไกลกว่าที่อื่นๆ ในเรื่องของแฟชั่นและความงามอันทันสมัย

    และเนื่องจากตามเสด็จพระราชสวามีไปต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์และชวา ทำให้ทรงคิดประดิษฐ์เครื่องแต่งกายแนวใหม่เป็นกึ่งไทยกึ่งฝรั่งได้อย่างแนบเนียนลงตัว เช่น ฉลองพระองค์ผ้าลูกไม้ฝรั่งแขนพอง แต่ทรงนุ่งโจงกระเบน จนดูเหมือนกางเกงแนวใหม่สำหรับผู้หญิง เป็นที่ร่ำลือถึงในเมืองแฟชั่นของยุโรปและก้าวหน้าไปมากกว่าพระราชินีองค์ใดจนสิ้นรัชกาลที่ 5

.

    คัดบางส่วนจากบทความ พระราชินีไทยผู้ทรงโสภาในประวัติศาสตร์ โดยไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560

ที่มา : komchadluek

บทความที่คุณอาจสนใจ