DSI ชี้แจงแล้ว บอกอัยการให้ริบรถ "แลมโบกินี่" ผู้กำกับโจ้ แต่อัยการไม่ริบ พร้อมคืนของกลาง

คอมเมนต์:

ดีเอสไอชี้แจงแล้ว 5 ข้อ ปมคืนแลมโบกินี่ให้ #ผู้กำกับโจ้ ยันบอกอัยการให้ริบแล้ว แต่อัยการไม่ริบเอง

    จากกรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เผยแพร่เอกสารการดำเนินคดีกับขบวนการนำเข้ารถยนต์ราคาแพง (รถหรู) โดยสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ได้แก่ รถยนต์ยี่ห้อแลมโบกินี่ รุ่น Aventador หมายเลขตัวรถ ZHWEC1ZD6DLA02280 หมายเลขเครื่องยนต์ L 53901702 (คดีพิเศษที่ 199/2560) ของพันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล ผกก. สภ.เมืองสวรรค์ ไปแล้วนั้น 

    ล่าสุดก็มีสื่อมวลชนหลายแขนง สอบถามการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางในคดีเข้ามา เนื่องจากสงสัยเรื่องการคืนรถให้กับ ผกก.โจ้ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ/DSI) ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว พร้อมชี้แจงให้ทราบเพิ่มเติมปมคืนรถแลมโบกินี่ให้ ผู้กำกับโจ้ 

 

Sponsored Ad

 

    เผยตอนส่งสำนวนแจ้งท้ายรายงานแล้วให้ริบรถ เนื่องจากเป็นของที่ไม่ผ่านศุลกากร ต้องริบรถเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย แต่อัยการพิจารณาไม่ริบเอง ด้านอัยการชี้แจง ไม่ใช่ทรัพย์ที่มีความผิด หรือเอาไว้ใช้กระทำความผิด จำเป็นต้องปล่อยไป โดยมี 5 ข้อ ดังนี้

 

Sponsored Ad

 

1. DSI อนุญาตให้ ผกก.โจ้ ทำสัญญานำรถไปเก็บรักษาระหว่างการสอบสวน

    คดีนี้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิด 8 ราย ในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของกลางในคดีพิเศษ ซึ่งระหว่างการดำเนินคดี พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้อนุญาตให้ผู้กำกับโจ้ ทำสัญญานำรถยนต์ไปเก็บรักษาระหว่างการสอบสวน

(เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น)

 

Sponsored Ad

 

2. DSI ส่งสำนวนพร้อมแจ้งให้พนักงานอัยการริบรถยนต์ของกลาง

    พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพร้อมตัวผู้ต้องหารวม 8 ราย และบัญชีของกลางไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 โดยมีความท้ายรายงานว่า...

    "รถยนต์ของกลางนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 166 บัญญัติว่า ของที่ยังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นของพึงต้องริบตาม พ.ร.บ. นี้ ซึ่งสอดคล้องกับความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 244 และ 242 ตามลำดับ ทั้งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 17 ได้บัญญัติให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น

 

Sponsored Ad

 

    ดังนั้น เพื่อรักษาหลักการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ อันเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร จึงเห็นควรขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์ของกลางในคดีนี้ด้วย" และมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1-8 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระบวนการนำเข้ารถยนต์คันดังกล่าว

 

Sponsored Ad

 

3. อัยการพิจารณาฟ้องผู้ต้องหา 7 ราย เว้น 1 ราย

    พนักงานอัยการได้พิจารณาสำนวนแล้ววินิจฉัยว่า มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 7 ราย และมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 1 ราย (นาย ส.) ต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 เพื่อให้ชี้ขาดความเห็นตามกฎหมาย

4. อัยการมีความเห็นไม่ริบรถยนต์ของกลาง

 

Sponsored Ad

 

    สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 มีหนังสือที่ อส 0017.4/4 ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 ถึงผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค (เจ้าของสำนวน) แจ้งผลเกี่ยวกับทรัพย์สิน ระบุว่า...

    "พนักงานอัยการได้มีความเห็นและคำสั่งในคดีแล้ว และมีของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้ตามบัญชีของกลางที่ส่งมาด้วย ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85"

Sponsored Ad

5. DSI คืนรถให้ ผกก.โจ้ ตามคำสั่งอัยการ

    ความเห็นตามข้อ 4 ตามกฎหมายถือว่าพนักงานอัยการมีดุลยพินิจออกคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล แต่ไม่ขอให้ศาลริบรถยนต์ของกลางตามที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษร้องขอ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงคืนรถยนต์ของกลางให้กับผู้ครอบครอง

    ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอยืนยันว่า การดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเป็นไปในรูปของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีพนักงานอัยการจากสำนักงานการสอบสวนร่วมด้วย มีที่ปรึกษาคดีพิเศษร่วมให้ข้อมูล ก่อนจะร่วมกันตัดสินใจในทุกขั้นตอน

    การสืบสวนสอบสวนมีการดำเนินการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายทุกขั้นตอน และเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะชี้แจงข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่ยังมีข้อสงสัยในการดำเนินคดีทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายสามารถให้เปิดเผยได้

.

.

ที่มา : เว็บไซต์ DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ